เลี้ยงลูกวัยแรกเกิดถึง 1 ปี อย่างไรให้ปลอดภัย

https://www.planforkids.com/readkidcorner.php?kidcornerid=37





เลี้ยงลูกวัยแรกเกิดถึง 1 ปี อย่างไรให้ปลอดภัย

สมรรถนะที่ 6 เรื่องความปลอดภัย ที่ลูกต้องมีความเข้าใจเกี่ยวกับความปลอดภัย..ในวันนี้ จะขอนำบทความ เรื่อง การเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดถึงอายุ 5 ปี ให้ปลอดภัยของคุณหมออดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ที่ได้นำเสนอไว้ในการประชุมเรื่องการพัฒนาสมรรถนะเด็กปฐมวัยในการพัฒนาตามวัย มาสรุปแล้วเล่าต่อเป็นช่วงอายุของลูกละกันนะจ๊ะ

ความปลอดภัยของลูกวัย 0 - 6 เดือน
การพลัดตกหกหล่น
ลูกวัยแรกเกิดสามารถถีบขาดันกับสิ่งขวางกั้นต่าง ๆทำให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางตรงกันข้ามได้ ครั้นพออายุได้ซัก 4 เดือนลูกก็จะเริ่มคว่ำได้ และ 6 เดือนสามารถหงายได้ กลิ้งตัวได้ซึ่งถ้าพ่อแม่ไม่รู้เรื่องพัฒนาการของลูกอาจจะคาดไม่ถึงและไม่ได้เตรียมการป้องกันจึงเป็นเหตุให้ลูกเกิดอุบัติเหตุตกเตียง ตกเก้าอี้ ตกรถลากได้ดังนั้นพ่อแม่จึงต้องไม่ทิ้งลูกไว้โดยลำพังบนเตียง โต๊ะ โซฟา ถ้าไม่สามารถอุ้มได้ให้วางลูกไว้บนที่นอนที่วางบนพื้นราบ หรือในเปลนอนที่มีขอบกั้นหากมีความจำเป็นต้องวางลูกไว้บนที่สูงอย่างเตียงหรือโซฟาเพื่อหยิบผ้าอ้อมหรือเตรียม พ่อแม่ต้องวางมือหนึ่งบนตัวลูกเสมอ อ้อ..ที่สำคัญนะไม่ควรใช้รถหัดเดินกับลูกทุกวัย เพราะรถหัดเดินนี่แหละที่จะทำให้ลูกเดินช้า และเกิดการบาดเจ็บจากการพลิกคว่ำ ล้ม กระแทกได้ง่าย

การเขย่าตัวลูก
อย่าจับลูกเขย่าโดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่พ่อแม่มีอารมณ์หงุดหงิดกับการร้องไห้ของลูกแล้วคิดว่าการเขย่านี่แหละที่จะทำให้ลูกเงียบ..ผิดถนัดลูกตกใจจะยิ่งร้องหนักเข้าไปอีกรู้ไว้ด้วยนะว่าการเขย่าลูกน่ะ อาจทำให้ลูกเกิดเลือดออกในสมอง และประสาทตายิ่งถ้าเขย่าตัวลูกแรง ๆ หรือเขย่าบ่อย ๆ อาจทำให้ลูกพิการทางสมองตาบอดหรือเสียชีวิตได้..ขนาดนั้นเลย

การอุดตันทางเดินหายใจ
ลูกวัย 3 - 5 เดือนขึ้นไป หยิบอะไรได้มักจะเอาเข้าปาก ซึ่งอาจทำให้สำลักแล้วอุดตันทางเดินหายใจทำให้สมองตาย หรือเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง 4 นาทีดังนั้น พ่อแม่ต้องไม่ให้ลูกหยิบจับสิ่งของเล่น ของใช้ผลไม้และอาหารชิ้นเล็ก ๆ เช่น เม็ดถั่ว ข้าวโพดโดยลำพัง..แม้เพียงชั่วขณะก็ไม่ได้ โดยเฉพาะหัวนมดูดเล่นนั่นแหละตัวดีถ้าพ่อแม่จะให้ลูกใช้ ก็ต้องเลือกแบบที่สร้างจากวัสดุที่ได้มาตรฐานและต้องหมั่นสังเกตเสมอ ๆ ว่า มีรอยขาดระหว่างหัวนมกับฐานหรือเปล่าเพราะอาจจะขาดหลุดเข้าคอลูกได้ อ้อ..ห้ามใช้สายต่อจากหัวนมดูดเล่นเพื่อคล้องคอลูกนะเพราะอาจรัดคอลูกจนขาดอากาศหายใจได้

การนอนของลูก
พ่อแม่ควรแยกลูกนอนต่างหากไม่ควรนอนรวมกับพ่อแม่บนเตียงหรือที่นอนเดียวกันเพราะมีความเสี่ยงจากความสูงของเตียง หมอน ผ้าห่มที่อาจจะคลุมทับจนลูกหายใจไม่ออกและการที่พ่อแม่เผลอหลับใหลแล้วไปนอนทับลูก หากลูกนอนบนเบาะหรือที่นอนก็ไม่ควรใหญ่และอ่อนนิ่มจนเกินไป ควรใช้เป็นเบาะหรือที่นอนบาง ๆที่มีความแข็งพอสมควร ใช้หมอนบาง ๆ ใบเล็ก ๆ ในกรณีที่ลูกนอนบนพื้นก็ต้องไม่จัดให้ลูกนอนอยู่ใกล้สิ่งของซึ่งอาจพลิกคว่ำทับตัวลูกได้ เช่นฟูกนอนที่วางตั้งพิงกำแพงไว้ และควรให้ลูกนอนหงายเพราะถ้านอนคว่ำบนหมอนที่ใหญ่และอ่อนนิ่มเกินไปอาจจะทำให้หมอนกดทับปากและจมูกของลูกได้การใช้เตียงเด็กหรือเปลก็ต้องเลือกแบบที่ถูกต้อง คือ ช่องซี่เปลทุกด้านต้องมีช่องห่างกันไม่เกิน 6 ซม. เพื่อป้องกันลูกลอดแล้วตก และหัวของลูกติดที่ซี่เปลเบาะที่นอนก็ต้องมีขนาดพอดีกับเตียง ถ้าไม่พอดีก็ต้องมีช่องว่างระหว่างเบาะที่นอนกับราวกันตกขณะที่ที่นอนเลื่อนไปชิดด้านใดด้านหนึ่ง ไม่เกิน 3 ซม.

ความร้อนลวก
อย่าอุ้มลูกนั่งตักขณะมีของร้อนอย่างเช่น ชา กาแฟ และอื่นๆ อยู่ในมือหรืออยู่บนโต๊ะ เพราะลูกอาจปัดหรือคว้าของร้อนนั้นได้หากว่าพลั้งพลาดจนลูกได้รับบาดเจ็บจากความร้อนลวกให้ใช้น้ำเย็นที่สะอาดแช่หรือล้างเพื่อลดความร้อนลงหลังจากนั้นให้ใช้ผ้าสะอาดปิดบาดแผลก่อนพาไปหาหมอ ห้ามทาบาดแผลด้วยน้ำปลาหรือยาสีฟันเด็ดขาด เพราะจะทำให้เกิดการติดเชื้อได้

สัตว์กัด
เอาเป็นว่าอย่าให้ลูกเล็ก ๆ อย่างนี้อยู่ตามลำพังกับหมู หมา กา ไก่ ปลาแมวและสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ดีกว่า เอาไว้โตสักหน่อยค่อยว่ากันละกันนะ

อุบัติเหตุจราจร

ถ้าจะให้ลูกนั่งรถยนต์..เล็กอย่างนี้ให้พ่อหรือแม่อุ้มไว้ดีกว่า วัยนี้ไม่ควรให้ลูกนั่งมอร์เตอร์ไซด์ทั้งสิ้นทั้งปวง

ความปลอดภัยของลูกวัย 6 - 12 เดือน
การพลัดตกหกล้ม และการชนกระแทก

ลูกวัย 6 - 12 เดือน เป็นวัยที่เริ่มเคลื่อนที่ได้ดีและเร็วขึ้น กลิ้งได้ดีขึ้นคืบได้ดีขึ้น คลานได้ดีขึ้น เกาะเดินได้ดีขึ้น และเดินเองได้ดีขึ้นลูกจึงมีความเสี่ยงต่อการหกล้ม ชนกระแทก ตกจากที่สูงหรือตกบันไดพ่อแม่ควรทำประตูกั้นที่บันได และประตูที่ว่านี่นะต้องเป็นประตูที่เปิดเข้าหาตัวได้ทิศทางเดียว และปิดกลอนไว้เสมอเพื่อป้องกันลูกไม่ให้ปีนป่ายบันไดได้

การจมน้ำ
ลูกวัยนี้แม้จะเริ่มนั่งเองได้แต่ห้ามเด็ดขาด..ห้ามให้ลูกนั่งเล่นน้ำโดยลำพังในอ่างหรือกะละมังที่มีน้ำอยู่ ระดับน้ำสูงเพียง 5 ซม. เพราะอาจทำให้เกิดการจมน้ำได้รู้ไหมว่าเด็กเล็ก ๆ ถึงร้อยละ 94 ที่จมน้ำเสียชีวิตนั้นเหตุเกิดในบ้านและบริเวณบ้าน เหตุการณ์ที่พบได้บ่อย คือ การจมถังน้ำในบ้านร่องน้ำที่อยู่บริเวณหน้าบ้านหรือหลังบ้านและเหตุที่เกิดก็ไม่ได้ซับซ้อนอะไร เพียงแค่พ่อแม่เผลอชั่วขณะ เช่นเดินไปล้างจาน ตากผ้า รับโทรศัพท์ หรืองีบหลับ ลูกก็คลานไปเล่นน้ำจนหัวทิ่มลงไปในกาละมังแล้วยกหัวขึ้นเองไม่ได้เพราะยังเล็กเกินไปหรือตกน้ำตายก็รู้นะว่าพ่อแม่ไม่สามารถดูลูกได้ทุกวินาที ดังนั้นต้องจำกัดพื้นที่เคลื่อนไหวของลูกให้อยู่ในบริเวณที่ปลอดภัยเท่านั้น

ความร้อนลวก
ลูกวัยนี้ จะคว้า จะจับสิ่งของได้อย่างรวดเร็วดังนั้นจึงต้องไม่อุ้มลูกขณะที่ถือของร้อน อย่างเช่น ถ้วยกาแฟ ชามน้ำแกงหรือกาน้ำร้อน และต้องไม่อุ้มลูกนั่งตักขณะมีของร้อนอยู่ในมือหรือบนโต๊ะใกล้ ๆ ในรัศมีมือของลูกจะคว้าถึงเพราะลูกอาจปัดหรือคว้าของร้อนนั้น จนเกิดอันตรายได้ อ้อ..ต้องเก็บสายไฟของกาน้ำร้อนให้เรียบร้อยอย่าให้ห้อยอยู่ในระดับที่ลูกสามารถดึงหรือกระชากถึงไม่เช่นนั้นลูกจะดึงแล้วน้ำร้อนราดตัวได้

สารพิษ
ลูกวัยนี้ยังคงต้องการ "ลิ้มรส" ทุกสิ่งทุกอย่างดังนั้นเมื่อจับอะไรได้ก็จะเอาเข้าปาก ดังนั้น พ่อแม่ต้องเก็บสารต่าง ๆในบ้าน อย่างเช่น ยาต่าง ๆ น้ำยาล้างพื้น ยาฆ่าหญ้า น้ำมันก๊าดให้พ้นมือลูกต้องใส่ตู้ที่มีการป้องกันอย่างดีไม่ให้ลูกเปิดเองได้

สัตว์กัด
ลูกวัยนี้ก็เช่นกัน อย่าให้อยู่ตามลำพังกับหมู หมา กา ไก่ ปลาแมวและสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ดีกว่า เอาไว้โตสักหน่อยค่อยว่ากันละกันนะส่วนเรือด ยุง ริ้น ไร ผึ้ง มดก็ต้องดูแลระวังระไวให้จงดีตรงไหนมีก็ต้องเก็บกวาด หรือไม่ให้ลูกอยู่ใกล้

การอุดตันทางเดินหายใจ
ลูกวัยนี้ ยังคงหยิบอะไรได้มักจะเอาเข้าปาก ซึ่งอาจทำให้สำลักแล้วอุดตันทางเดินหายใจทำให้สมองตาย หรือเสียชีวิตได้ในเวลาเพียง 4 นาทีดังนั้น พ่อแม่ต้องไม่ให้ลูกหยิบจับสิ่งของเล่น ของใช้ผลไม้และอาหารชิ้นเล็ก ๆ เช่น เม็ดถั่ว ข้าวโพดโดยลำพัง..แม้เพียงชั่วขณะก็ไม่ได้ไม่ควรให้ลูกเล่นของเล่นที่มีขนาดเล็กและที่แตกหักได้ง่ายพ่อแม่ต้องเลือกของเล่นฝึกการขบเคี้ยวที่มีมาตรฐานรับรองเท่านั้นไม่ควรแช่ที่ขบเคี้ยวของลูกในช่องแข็งของตู้เย็น และที่สำคัญที่สุด คือต้องล้างทำความสะอาดทุกครั้งที่ลูกใช้แล้ว

อุบัติเหตุจราจร
ถ้าจะให้ลูกนั่งรถยนต์ ก็ต้องใช้ที่นั่งสำหรับเด็กทารกโดยติดตั้งบนที่นั่งด้านหลังและหันหน้าเด็กไปทางด้านหลังถ้าเป็นรถปิกอัพให้ติดตั้งด้านหน้าข้างคนขับโดยหันหน้าลูกและที่นั่งไปทางด้านหลังรถและห้ามใช้ถุงลมในที่นั่งด้านข้างคนขับเพราะถุงลมที่กางออกขณะเกิดอุบัติเหตุนั้นจะทำให้ลูกได้รับบาดเจ็บได้ที่สำคัญคืออย่าทิ้งลูกไว้ในรถคนเดียว ความร้อนภายในรถจะทำให้เกิดอันตรายได้วัยนี้ก็ยังไม่ควรให้ลูกนั่งมอร์เตอร์ไซด์..เรื่องนี้ซีเรียสนะแต่สำหรับรถจักรยาน พอลูกอายุมากกว่า 9 เดือนแล้วพอนั่งได้แต่ต้องมีที่นั่งพิเศษสำหรับลูกโดยที่นั่งนี้ยึดติดกับรถจักรยานอย่างแข็งแรง มีเข็มขัดยึดลูกติดกับที่นั่งมีที่วางเท้าเพื่อป้องกันเท้าเข้าซี่ล้อ และลูกควรสวมใส่หมวกนิรภัย
((ติดตาม : เลี้ยงลูกในวัย 1-5 ปี อย่างไรให้ปลอดภัยต่อได้ในตอนหน้า))
ขอบคุณภาพจาก pixabay 
ขอขอบคุณข้อมูลจาก Facebook “toobpongtoobpong”
ตุ๊บปอง เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป กรรมการผู้จัดการมูลนิธิหนังสือเพื่อเด็ก

ความคิดเห็น